การเลือกรองเท้าจากแบบที่สวยงามและราคาถูกอย่างเดียว อาจทำให้สร้างปัญหาให้กับเท้าของลูกน้อยได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในเด็กบางคนที่อายุน้อยกว่า 4 ปี อาจจะมีปัญหาในเรื่องของเท้าหรือขา เช่น flatfoot (เท้าแบน), heel valgus (ข้อเท้าเอียง),knock knee (เข่าซ้อน), toe-in gait (หรือภาษาชาวบ้านที่เรียกกันว่าเดินเป็ด) และแม้ว่าอาการเหล่านี้จะหายได้เองเมื่อโตขึ้น แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ใส่ใจหรือหมั่นสังเกตลูกอาการเหล่านี้อาจจะแย่ไปกว่าเดิม ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาของเท้าต่างๆ ที่จะเกิดกับลูกน้อยได้ในอนาคตคือ การเลือกรองเท้าที่ดีเพื่อสุขภาพให้ลูกน้อย
1. เลือกวัสดุที่นิ่ม ใส่สบาย (Non-Toxic) สำหรับเด็กหัดเดิน พื้นรองเท้าไม่ควรหนาเกินไปเพื่อให้เด็กยังมีความรู้สึกถึงพื้นที่เขายืน หรือเดินอยู่ได้
2. ในเด็กที่กำลังหัดเดิน (15 – 24 เดือน) การเลือกรองเท้าที่มีข้อเท้าสูงเล็กน้อยและมีความแข็งเพียงพอ จะสามารถช่วยประคองข้อเท้าขณะเดินหรือวิ่งได้ ทำให้ข้อเท้าตั้งตรงขณะวิ่งหรือเดิน
3. ไม่ควรเผื่อรองเท้ามากเกินไป การให้ลูกน้อยใส่รองเท้าที่ใหญ่เกินเท้าเขามากๆ จะทำให้เด็กต้องเกร็งเท้าขณะเดินหรือวิ่ง (เพราะกลัวรองเท้าจะหลุด) ซึ่งในเด็กบางคนพบว่าเด็กมีอาการนิ้วเท้าจิก
4. รูปทรงรองเท้าควรเลือกให้เหมาะกับลักษณะของเท้าน้องๆ เช่น หากน้องเป็นคนเท้าอ้วนหรืออูม ก็ควรหลีกเลี่ยงรองเท้าหัวแหลม
5. หมั่นดูแลทำความสะอาดรองเท้าของลูกน้อยให้แห้งและสะอาด
ภัยเงียบที่ควรทราบ
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะเห็นว่าลูกน้อยถอดรองเท้าออกบ่อยๆ เพราะเนื่องจากรู้สึกไม่สบายขณะสวมใส่ การสวมใส่รองเท้าแตะจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของลูกน้อยรองเท้าแตะอาจจะดูสวย งาม ใส่สบาย ถอดเข้าออกง่ายก็จริง แต่ทว่าการสวมรองเท้าแตะนั้นนำมาด้วยอาการปวดต่างๆ เช่น ปวดส้นและหลังเท้า และเส้นเอ็นอักเสบได้ เพราะรองเท้าแตะไม่ได้ช่วยโอบห่อเท้าหรือปกป้องเท้าจากอันตรายต่างๆได้เลย อีกทั้งยังทำให้เท้าแผ่แบนราบ
เต็มที่อีกด้วย ดังนั้น เด็กเล็กๆ จึงควรสวมใส่รองเท้าที่มีความอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่น และมีพื้นที่ให้นิ้วเท้าขยับได้ด้วย ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาอังกฤษ ฮอลแลนด์ ฮ่องกง คุณหมอเด็กจะให้ความสำคัญกับเท้าเด็กมาก เด็กส่วนใหญ่จะตัดรองเท้าใส่ และเด็กในประเทศเหล่านั้นจะไม่สวมรองเท้าแตะเลย